Skip links

ภาษากายในที่ทำงาน ทักษะสำคัญที่ต้องมี

#ภาษากายในที่ทำงาน
#ทักษะที่มนุษย์ทำงานควรต้องมี

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับภาษากายในที่ทำงาน หรือ Nonverbal Communication นั่นคือการสื่อสารแบบไม่ใช้ภาษาพูดเลย โดยสื่อสารผ่านกริยาท่าทางของร่างกาย, การส่งสายตา, ระยะห่างของแต่ละคน, การสัมผัสและการเปล่งเสียง หรือแม้แต่การแต่งตัว ทั้งหมดนี้สามารถเป็นการสื่อสารด้วยภาษากายหมด และยังสามารถใช้ภาษากายควบคู่กับภาษาพูด หรือ Verbal Communication ได้ด้วยค่ะ

การสื่อสารแบบภาษากายนั้นมีอิทธิพลมากกว่าภาษาพูดเพียงอย่างเดียวมากๆ ซึ่งแปลว่าเพื่อนร่วมงาน หรือลูกทีมจะตั้งใจฟังสิ่งที่คุณพูด สังเกตท่าทาง จับโทนเสียงว่าคุณต้องการอะไร และการสบตาขณะสนทนากันนั้นจะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจเราได้มากที่สุดด้วย การใช้ภาษากายอย่างถูกจังหวะนอกจากจะช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจความต้องการของเราได้ง่ายขึ้น ยังช่วยให้มีมิตรภาพในการทำงานร่วมกันที่ดีขึ้นได้ด้วย

ส่วนการสื่อสารแบบภาษากายนั้นหลักๆ จะมีทั้งหมด 3 รูปแบบการสื่อสารนั่นเอง

ลักษณะของภาษากาย

#ภาษากายที่ขยายความภาษาพูด
การใช้กริยาท่าทางขยายสิ่งที่พูดอยู่ในขณะนั้นสามารถช่วยให้การสื่อสารของเราออกไปอย่างชัดเจนขึ้นได้ เช่นการเอามือทุบโต๊ะพร้อมกับการบอกว่าเราไม่พอใจกับสิ่งที่คุณทำซึ่งในตรงนี้คือการขยายความให้อีกฝ่ายเข้าใจชัดเจนว่าเราไม่พอใจ หรือเราควรใช้มือชี้หรือมีการเคลื่อนไหวในขณะที่กำลังนำเสนองานเพื่อให้สิ่งที่เรากำลังนำเสนอนั้นเป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น

#ภาษากายที่ใช้แทนภาษาพูด
ในบางครั้งแค่การแสดงออกทางภาษากายเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำให้คนอื่นๆ เข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องเอ่ยปากพูด เช่นการแสดงสีหน้ายิ้มดีใจ บึ้งโกรธ และสีหน้าตกใจ

#ภาษากายที่สวนทางกับภาษาพูด
ในบางกรณีภาษากายรูปแบบนี้ในที่ทำงานจำเป็นต้องระวังและต้องรอบคอบก่อนที่จะไปพูดคุยกับใครเพราะหากภาษากายนั้นสวนทางกับสิ่งที่พูดและไม่ดีอาจจะทำให้เกิดการไม่เชื่อใจในที่ทำงานเกิดขึ้นได้

ภาษากายรูปแบบไหนที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ง่าย?

แน่นอนว่าการใช้ภาษากายนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้การแสดงออกนั้นชัดเจนขึ้น แต่ในบางสถานการณ์ภาษากายอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ง่ายมากๆ เช่นกัน

#การด่วนสรุป – การด่วนสรุปตรงนี้อาจจะเป็นเหตุการณ์ในที่ประชุมแล้วคุณเห็นลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมทีมคุณเอามือเท้าคางอยู่ ซึ่งถ้าหากดูผิวเผิดแล้วมันอาจจะดูเหมือนว่าเขากำลังหลับ แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่านั่นอาจจะเป็นท่าที่เขาชอบทำเวลาตั้งใจฟัง หรือเขาอาจจะเหนื่อยจากงานหลายๆ งานของวันนั้นก็ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรด่วนสรุป และลองใช้วิธีอื่นแทนเช่นการขอพักเบรค

#การลดความน่าเชื่อถือ – หากว่าภาษากายของคุณแสดงออกไม่สอดคล้องกับสิ่งที่คุณพูดแม้จะเป็นแค่ครั้งเดียวก็สามารถทำให้เพื่อนร่วมงานไม่ไว้ใจได้ทันที เช่นเราบอกว่าเรายินดีช่วยเหลืองานของเขาแต่เรากลับแสดงสีหน้าไม่พอใจ หรือเรากำลังให้คำชมกับลูกทีมแต่โทนเสียงนั้นต่ำชาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเราไม่จริงใจกับลูกน้อง ฉะนั้นการคิดถึงสิ่งที่จะพูดและสำรวจตัวเองก่อนที่จะพูดกับใครถือเป็นสิ่งที่ควรทำเหมือนกัน

เทคนิคง่ายๆ เพื่อพัฒนาภาษากายของตัวเองให้ดีขึ้น
สำหรับคนที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงหรือระดับหัวหน้าแล้ว People Skill ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ และมันยังช่วยให้ภาษากายดีขึ้นด้วย ฉะนั้นการเข้าใจตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกที่หัวหน้าอย่างเราต้องเข้าใจตัวเองอย่างชัดเจนก่อน เมื่อเข้าใจตัวเองแล้วสิ่งต่อมาคือรู้แจ้งอารมณ์ของตัวเองในตอนนั้นๆ เพื่อจะได้เรียบเรียงความคิดได้ว่าต้องการจะสื่อสารอะไรออกไป

4 เทคนิคที่ Managers ควรรู้

1. การสังเกตกริยาท่าทางของตัวเอง – การสนทนากับลูกน้องหรือกับทีมสิ่งสำคัญคือทุกคนจะฟังในสิ่งที่เราสื่อสารเสมอฉะนั้นการวางกริยาท่าทางของเราสามารถส่งผลกับความเข้าใจของผู้ฟังได้ตลอดเวลา เช่นการนั่งในห้องประชุมหากเรานั่งท่าเอื่อยๆ หลังค่อมก็อาจจะส่งผลให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเราเฉื่อยชา ไม่ตั้งใจได้

2. รักษาจังหวะการสบตา – “ดวงตาคือหน้าต่างของจิตใจ” สิ่งนี้ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ทุกคนสามารถรู้สึกถึงอารมณ์ได้เพียงแค่การสบตา ฉะนั้นการสบตากับผู้ฟังในระหว่างการประชุม หรือการสนทนาจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าถึงได้มากขึ้น และยังดูออกว่าเรามีความตั้งใจในการสื่อสารมากกว่าไม่สบตาด้วย

3. การระวังโทนเสียง – โทนเสียงเองก็สามารถส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ฟังได้ด้วย ฉะนั้นการคุมโทนเสียงให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการวางกริยาท่าทาง เช่นในการนำเสนองานเราควรมีโทนเสียงที่หนักแน่น ไม่สั่น ดังฟังชัด ไม่เบาเกินไป

4. วางมือให้อยู่ในสายตาของผู้ฟัง – เชื่อมั้ยว่าสิ่งที่ผู้ฟังจะสังเกตมากสุดไม่ใช่ที่หน้าตาของเราแต่เป็นการวางมือของเรา มือเป็นส่วนที่แสดงตัวเราได้มากพอๆ กับส่วนอื่นเช่นการเก็บซ่อนมือไปข้างหลังแทนที่จะกุมมือไว้ข้างหน้าจะสามารถแสดงให้เห็นว่าเรามีความไม่มั่นใจ ฉะนั้นในการสนทนาการวางมือให้เห็นต่อหน้า ไม่แกว่งไปมามากไปจะทำให้ผู้ฟังอยู่กับเราได้นานขึ้น

การแสดงออกทางภาษากายนั้นไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนที่น่านับถือหรือไม่น่าเคารพได้อย่างทันทีทันใด แต่การฝึกให้เข้าใจความคิดตัวเอง เข้าใจอารมณ์ และสังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้นจะสามารถช่วยพัฒนาภาษากายภาษาพูดให้คมขึ้นได้ และอาจจะช่วยให้กระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานได้มากขึ้นด้วยค่ะ

 

====================

ฝากประวัติสมัครงานมากับเราที่ >>> bit.ly/2K333DY
หรือส่งเรซูเม่พร้อมบอกตำแหน่งงานที่ต้องการสมัครมาที่ applicant@prtr.com

เพียงบอกความต้องการของคุณ แล้วส่งข้อมูลมาเจ้าหน้าที่สรรหาของเราจะรีบให้ความช่วยเหลือคุณอย่างเร็วที่สุดค่ะ

“เพราะความสำเร็จของคุณ คือความสำเร็จของเรา”
PRTR

#PRTR #PeopleAreKey
#Recruitment #TotalHRSolutions #หาคน #หางาน

Top