Skip links

แค่จบม.ดัง อาจยังไม่ใช่ เพราะ “ทักษะ” คือมาตรวัดใหม่ในการเฟ้นหาคนทำงาน

จบมหาวิทยาลัยชื่อดัง อาจยังไม่พอ
ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงนั้นไม่ดีนะคะ ดีแน่นอน
แต่สิ่งที่สำคัญ ที่กำลังเปลี่ยนแแปลงไป นั่นคือ ‘ทักษะ’ และ ‘ความรู้’ ใหม่ๆ
ที่คุณต้องพกใส่กระเป๋าเพิ่มเติม

และนั่นทำให้คุณต้องไม่หยุดอยู่กับที่ เปิดใจเรียนรู้ แบบ Life-Long Learning
เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

เพราะความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านการเติบโตของเทคโนโลยี
กำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แพลตฟอร์มที่เรารู้จักกันดีอย่าง LinkedIn ได้ทำการวิเคราะห์ และหาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานที่เริ่มใช้การเฟ้นหาผู้ที่มี ‘ทักษะ’ กันมากขึ้นกว่าการพิจารณาจากใบปริญญาเพียงอย่างเดียว

‘ทักษะ’ เปรียบเสมือนสกุลเงินใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วในตลาดแรงงาน ซึ่งการที่ผู้สมัครงานมีทักษะในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่หลากหลาย หรือทักษะเฉพาะด้านนั้น จะเป็นส่วนช่วยให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า บุคคลนั้นๆ จะมีศักยภาพในการทำงานที่มากเพียงพอ และสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นทักษะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่เปรียบเสมือนกับการได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอนาคตได้อย่างเต็มตัวนั่นเอง

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ LinkedIn จึงได้พัฒนาเครื่องมือที่มีชื่อว่า Skills Genome ขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยควบคุมในการวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้ม และภาพรวมในการพัฒนาตลาดแรงงานได้มากขึ้น ซึ่งเครื่องมือชี้วัดตัวก็ถูกนำไปใช้วิเคราะห์จากทักษะกว่า 35,000 ทักษะที่มีบนโลก จากสมาชิกของ LinkedIn กว่า 630 ล้านคน ผลก็คือมันช่วยให้สามารถวิเคราะห์ทักษะบนโปรไฟล์ของผู้สมัคร ให้ตรงกับตลาดแรงงานได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัย ประเภทงาน และเพศ

หนึ่งตัวอย่างง่ายๆ ที่ประเทศจีน ได้มีการใช้มาตรวัดด้านทักษะดิจิทัลบนพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ และเปิดกว้างในการทำงานมากที่สุดอย่างบริเวณ กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือที่เรียกว่า Greater Bay Area ของจีน พบว่าประชาชนในแถบนี้จะมีความสามารถด้านดิจิทัลค่อนข้างดี โดยเซินเจิ้นจะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของการเฟ้นหาผู้ที่มีทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี

แต่หากมองกลับไปยังประวัติการศึกษาพบว่า คนส่วนใหญ่ของที่นี้จบการศึกษาในด้านการบริหารจัดการ และด้านการเงินมากกว่า ซึ่งสวนทางกับทักษะด้านดิจิทัล ที่มีอยู่มากกว่าทักษะในการจัดการหรือการเงินนั่นเอง


เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คนทำงานในบ้านเราก็คงต้องรีบเร่งหาแหล่งเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะกันให้มากยิ่งขึ้นแล้วล่ะ เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ เรื่องของทักษะอาจจะมีผลต่อการพิจารณาในการได้งานมากกว่าใบปริญญาก็เป็นได้

Top